“ พี่ใหญ่ของผืนป่า ”


เมื่อพูดถึงป่า!!!!  ทุกคนนึกถึงอะไรคะ แน่นอนหลายๆคนคงจะนึกถึงสัตว์ ซึ่งสัตว์ก็มีหลายๆชนิดมีทั้งสัตว์บก สัตว์น้ำ สัตว์เลื้อยคลาน สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ และเป็นสัตว์ที่มีพิษและไม่มีพิษ แล้วถ้าพูดถึงสัตว์ที่เป็นพี่ใหญ่และอยู่คู่บ้านคู่เมืองของคนไทยมาช้านานเราจะนึกถึงอะไร แน่นอนค่ะ คงจะหนีไม่พ้น “ ช้าง ”

เพราะช้างเป็นสัตว์บก และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และสามารถเป็นดัชนีที่ใช้ในการชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติได้ เนื่องจากช้างนั้นมีความต้องการอาหารในแต่ละวันในปริมาณที่มากโดยเฉลี่ย อยู่ที่ 150 – 200 กิโลกรัมต่อวัน และใช้ระยะเวลาในการกินอยู่ที่ 14 – 16 ชั่วโมง หากผืนป่าใดที่มีช้างอาศัยอยู่จะบ่งบอกได้ว่าผืนป่าแห่งนั้นมีความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติสูง

อีกทั้งช้างนั้นถือเป็นหนึ่งใน “ Umbrella species ” สัตว์ที่ให้ร่มเงาแกสัตว์หรือสิ่งมีชีวิตอื่น เพราะการดำรงชีวิตของช้างนั้นจะเกื้อกูลต่อสัตว์หรือสิ่งมีชีวิตอื่นๆในป่าเสมอ เช่น มูลช้าง สามารถที่จะเป็นอาหารต่อให้สัตว์ต่างๆได้ เนื่องจากระบบขับถ่ายของช้างนั้นไม่ดีเท่าไหร่ จึงทำให้มักจะมีสัตว์เล็กสัตว์น้อยเดินตามคุ้ยเขี่ยหาเศษอาหารจากมูลช้างนั่นเอง

เนื่องจากช้างนั้นเป็นสัตว์ที่มีขนาดใหญ่ เวลาที่ช้างเดินไปตรงไหน บริเวณนั้นมักจะเตียนโล่งกลายเป็นเสมือนเส้นทางหาอาหารให้แก่เหล่าสัตว์น้อยใหญ่ในป่า หรือในบางครั้งช้างจะใช้งาและขาในการขุดคุ้ยส่วนต่างๆที่แข็งของดินโป่ง ทำให้สัตว์อื่นๆสามารถมากินดินโป่งต่อจากช้างได้

ช้างมักจะไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นหลักแหล่ง เนื่องจากช้างกินอาหารเป็นจำนวนมาก เมื่ออาหารหมดช้างก็จะเดินทางหาแหล่งอาหารใหม่ โดยใน 1 วัน ช้างสามารถเดินทางได้รวมๆแล้วประมาณ 3 กิโลเมตร แต่ช้างมีความสามารถในการจดจำแหล่งอาหารเดิมได้และจะเดินทางกลับวนมาหากินในพื้นที่เดิมอีกสลับกันไปมา คล้ายๆกับการเดินทางเป็นวงกลมนั่นเอง

ช้างนั้นเมื่อโตเต็มที่ จะมีความสูงอยู่ที่ 2.5 เมตร และจะมีน้ำหนักตัวเต็มที่อยู่ที่ 3-4 ตัน โดยประมาณ โดยที่ช้างบางตัวจะมีอายุยืนถึง 60-70 ปี

ช้างจะถ่ายมูลวันละประมาณ 16-18 ครั้ง และจะมีมูลช้างออกมามากถึงวันละ 100 กิโลกรัม โดยที่มูลของช้างนั้นสามารถนำไปทำเป็นปุ๋ยได้

ช้างเพศเมียจะโตเต็มวัยและพร้อมที่จะผสมพันธ์จะมีอายุอยู่ในช่วง 15-16 ปี โดยที่ช้างเพศเมียจะตั้งท้องนานถึง 22 เดือน ตกลูกได้ครั้งละ 1 ตัวเท่านั้น และในการตั้งท้องของช้างในแต่ละครั้งจะมีระยะเวลาห่างกัน 4 ปี

จึงทำให้มีวันช้างไทยเกิดขึ้น โดยจะตรงกับวันที่ 13 มีนาคม ของทุกปี เพื่อให้คนไทยหันมามีส่วนร่วมในการช่วยกันอนุรักษ์ช้างให้มากขึ้น